วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

 
พิษภัยจากเครื่องสำอางค์ รักสวย รักงาม ระวังหน้าพัง    
 
 

 

ปัจจุบันคนเราแทบจะหลีกเลี่ยงจากการใช้เครื่องสำอางค์ ไม่ได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่นิยมใช้เครื่องสำอางค์กันมากที่สุด ซึ่งเครื่องสำอางค์ที่ใช้มีทั้งชนิดที่ใช้ทำความสะอาด ชนิดเสริมแต่งความงามและชนิดที่มียาผสม เครื่องสำอางค์ที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปได้แก่ แป้งผัดหน้า ลิปสติก ครีมทาหน้า- ทาตัว โลชันต่างๆ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะเรื่องความสวยความงาม แต่กลับมองข้ามอันตรายที่จะได้รับเนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะเครื่องสำอางค์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาถูก และมีสารต้องห้ามเป็นส่วนผสม
     ข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับการฟ้องร้องหรือการได้รับ ผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารอันตรายตามที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วน ประกอบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องสำอางราคาถูก เครื่องสำอางปลอม ลักลอบนำเข้า แล้วถูกนำไปวางขายควบคู่กับเครื่องสำอางทั่วไปจนผู้ซื้อไม่อาจแยกแยะได้ว่า สินค้าชนิดไหนเป็นของจริงหรือของปลอม เมื่อนำไปใช้งานจึงเกิดผลกระทบไม่ว่าจะเป็นการแพ้ เป็นผื่นคันหรือเป็นฝ้าถาวรบนใบหน้า
     เภสัชกรวัฒนา อัครเอกฒาลิน ผู้อำนวยการสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อันตรายที่เกิดขึ้นได้นั้นความจริงแล้วไม่ได้เกิดกับเครื่องสำอางทุกชนิด มีบางชนิดเท่านั้นที่ทำให้เกิดและยังขึ้นอยู่กับภูมิแพ้ของแต่ละบุคคลอีก ด้วย ส่วนการป้องกันและปราบปรามของภาครัฐนั้น อย.จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ก็ยังพบว่ามีการฝ่าฝืนอยู่เสมอ โดยข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 สามารถประกาศเพิ่มอีก 3 ยี่ห้อจากที่มีอยู่เดิม 87 ยี่ห้อสำหรับการตรวจพบเครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้
     แม้จะร่วมมือกับสมาคม/ชมรมต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอางจัดเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องก็ ยังพบว่ามีการค้าขายสินค้าเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะพบทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดไม่ว่าจะเป็นจากร้านค้า ทั่วไป การบอกต่อ ขายตรง จึงมีข่าวการจับกุมอยู่บ่อยครั้ง มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ บางครั้งจับกุมได้เป็นคันรถ 10 ล้อ
     เหตุที่มีผู้กล้าฝ่าฝืนกฎหมายก็เพราะบทลงโทษยังเบา กล่าวคือปัญหาเครื่องสำอางจะขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติเครื่องสำอางปี 2535 และในส่วนโฆษณาจะใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่ใช้มานาน อีกทั้งกฎหมายเครื่องสำอางนั้นจะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้กับผิวกายภายนอก เพื่อความสะอาดและความสวยงาม ดังนั้นกฎหมายจึงไม่เข้มงวดเท่ายา อาหาร หรือเครื่องมือแพทย์ แต่ปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพิ่มโทษให้หนักขึ้นแล้วจากเดิม จำคุกไม่เกิน 1 ปีเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี จากปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 500,000 บาท อีกทั้งผู้พบเบาะแสยังจะได้รับสินบนนำจับอีกด้วย
     นางสุวรรณา จารุนุช ผู้อำนวยการกองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงนโยบายดำเนินการตรวจสารต้องห้ามในเครื่องสำอางตามตลาดทั่วไปว่า ปัจจุบันกรมได้จัดทำโครงการร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค 14 แห่งเพื่อสำรวจสีห้ามใส่ในลิปสติกและเครื่องสำอางทาเปลือกตาที่มีจำหน่ายใน ตลาดนัด ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามีการใช้เครื่องสำอางที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสมจำนวนมากโดยเฉพาะการ ตรวจสอบพบสารก่อมะเร็งตามที่ได้นำไปทดสอบกับสัตว์ทดลองต่าง ๆ ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้ในการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะได้รับจากการ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
     สำหรับอันตรายเนื่องจากในเครื่องสำอางมีสารเคมีที่เป็นสารต้องห้ามเป็นส่วน ผสม ซึ่งอันตรายที่ได้รับส่วนใหญ่จะเกิดกับผิวหนังมากกว่าระบบอื่น เช่นเครื่องสำอางประเภทน้ำยาสเปรย์ผมที่มีส่วนผสมของสาร ทีวีพี ครีมกันแดด แก้ฝ้า อาจทำให้ผิวหนังแพ้ หรืออักเสบที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก ใบหู คอ และยังทำให้ผมแข็งกรอบ น้ำยาสเปรย์บางอย่างมีส่วนผสมของเชลแล็กที่ละลายด้วยแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ผลิตบางรายใช้
     เมทิลแอลกอฮอล์ละลาย เนื่องจากราคาถูก สารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว ถ้าได้รับสารนี้เป็นประจำยังจะก่อให้เกิดนัยน์ตาฝ้ามัว อักเสบขั้นรุนแรงจนตาอาจบอดได้
     ปัจจุบันเครื่องสำอางแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามระดับความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคดังนี้คือ 1) เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เช่น น้ำยาดัดผม ครีมย้อมผม ครีมขจัดขน ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 2) เครื่องสำอางควบคุม เช่น ครีมผสมสารป้องกันแสงแดด แชมพูขจัดรังแค ผ้าอนามัย ผ้าเย็นหรือกระดาษเย็น แป้งฝุ่นโรยตัว และแป้งน้ำ 3) เครื่องสำอางทั่วไป เช่น สบู่ก้อน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ยาสีฟันสมุนไพร(ไม่ผสมฟลูออไรด์) ลิปสติก สีทาเล็บ แป้งทาหน้า ซึ่งเครื่องสำอางประเภทแรกจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเข้มงวด โดยต้องมาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนผลิตหรือนำเข้า ส่วนประเภทที่ 2 นั้นมีความเสี่ยงปานกลางจึงควบคุมไม่เข้มงวด แต่ต้องมาจดแจ้งให้เรียบร้อยก่อนผลิตและนำเข้าเช่นกัน และประเภทที่ 3 กำกับดูแลไม่เข้มงวดเช่นกัน แต่ไม่ต้องมาแจ้งต่อสำนักงานก่อนผลิต เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง เช่น ไม่มีส่วนผสมของสารต้องห้าม ใช้สีตามที่กฎหมายกำหนด จัดทำฉลากภาษาไทยให้ครบถ้วน  
(แหล่งที่มา : http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=W0122651&issue=2265 )

 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น